ในโลกของทุนนิยม หลายประเทศมีการแข่งขันทางการค้าแบบเสรี ทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องการแต้มต่อทางการแข่งขันการค้า การเจรจาตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement; FTA) เป็นกลวิธีหนึ่งที่ลดอุปสรรคทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี อีกทั้งยังส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันได้ ปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนได้เริ่มเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีมูลค่าสูงของหลายประเทศ ทำให้เกิดความกังวลว่าหากประเทศไทยไม่ทำการเจรจา FTA อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ประเทศไทยได้ตระหนักถึงข้อดีของการตกลงFTA จึงมีความต้องการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามการทำการเจรจาตกลงการค้าเสรีส่งผลดีให้แก่ภาคธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันอาจจะส่งผลกระทบทางด้านลบต่อสังคม เช่น มาตรการที่มากเกินกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights plus: TRIPs+) ที่ส่งผลให้เกิดการขยายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ หรือการลดภาษีสุราทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสุราได้ง่ายเป็นผลให้เกิดนักเสพหน้าใหม่และเกิดผลเสียต่อสุขภาพซึ่งส่งผลต่อภาระงบประมาณในการดูแลรักษาโรคที่เป็นผลจากการดื่มสุรา ซึ่งผลกระทบทั้งสองด้านที่กล่าวมาทำให้เกิดประเด็นทางสังคม และข้อโต้แย้งในการการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป
การเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปล้วนมีส่วนได้และส่วนเสียที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดคำถามว่าผลกระทบที่เกิดจากการเจรจาการค้าเสรีจะเป็นไปในทิศทางใด และผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นประชาชนไทยทั้งประเทศหรือกลุ่มบุคคลเพียงภาคส่วนเดียว ดังนั้น โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพจึงจัดทำการประเมินผลกระทบความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปต่อการค้าและการลงทุน โดยทำการทบทวนสถานการณ์การค้าสินค้า การบริการ และการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนที่มีสภาพเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน จากนั้นจำลองสถานการณ์การตกลงการค้าเสรีเพื่อคาดการณ์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการทำการเจรจาการค้าเสรี โดยใช้วิธีทางเศรษฐมิติ โดยผลการวิจัยสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น
Today | This Month | Total | |||
201 | 6435 | 155653 |