งานวิจัยฉบับนี้ประเมินความสามารถในการแข่งขัน Medical Tourism ของไทยในภูมิภาคเอเชียที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากรวมทั้งไทยกำลังต้องการส่งเสริมให้เป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วันนี้สถานการณ์ทางธุรกิจ Medical Tourism เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ภาครัฐต้องปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ไม่สามารถตีกรอบเพียงแค่ความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณามิติด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะผลกระทบทางลบที่อาจมีจาก Medical Tourismวิธีการศึกษาของโครงการวิจัยประกอบด้วยทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิและข้อมูลปฐมภูมิ โดยศึกษาทั้งในกรณีของไทยและประเทศคู่แข่งที่สำคัญในภูมิภาคอีก 3 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย การศึกษาเชิงลึกในต่างประเทศดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศเพื่อให้เราสามารถติดตามพัฒนาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างใกล้ชิด การวิเคราะห์ข้อมูลปฐมภูมิในการศึกษานี้เป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกและ/หรือการจัดประชุมระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารโรงพยาบาล แพทย์ ผู้ป่วยชาวต่างชาติ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและใน 3 ประเทศที่ครอบคลุมในการศึกษานี้ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า Medical Tourism ของไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีในภูมิภาค แม้ความสลับซับซ้อนของบริการของ Medical Tourism ไทยอาจไม่มากเหมือนสิงคโปร์ แต่มีความล้ำหน้ากว่ามาเลเซียและอินเดีย นอกจากนั้นการที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่งมีส่วนช่วยให้ MedicalTourism ไทย น่าดึงดูดให้ชาวต่างชาติมารับบริการเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ในภูมิภาคในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาธุรกิจ Medical Tourism ในภูมิภาคเอเชียได้มีเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยผู้ป่วยชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทวีความสำคัญขึ้นอันเนื่องจากคุณภาพของการรักษาพยาบาลในประเทศต้นทางยังไม่มีการพัฒนา นอกจากนั้นขอบเขตของบริการใน Medical Tourism ในลักษณะเพื่อความพึ่งพอใจ เช่น การรักษาผู้มีบุตรยาก ความสวยงาม และทันตกรรมมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นและทำให้มีผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก (เช่น โรงพยาบาลขนาดกลาง และ คลินิก) เข้ามาในธุรกิจ Medical Tourism เพิ่มมากขึ้นเรื่องดังกล่าวกระทบต่อความยั่งยืนของ Medical Tourism ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแข่งขันทางด้านราคาจะเพิ่มสูงขึ้น และเผชิญความเสี่ยงในลักษณะปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งคอกสูงขึ้นแม้มีความกังวลว่าการขยายตัวของ Medical Tourism อาจบั่นทอนคุณภาพการให้บริการสุขภาพกับประชาชนภายในประเทศ ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบทางลบดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นอย่างจำกัดเพราะกิจกรรมที่นำเสนอใน Medical Tourism ไม่ใช่กิจกรรมที่คนไทยมีความต้องการรับบริการสูง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมักเป็นผลทางอ้อมที่มาจากผลตอบแทนที่สูงใน Medical Tourism จูงใจให้บุคคลากรทางการแพทย์หันไปสู่กิจกรรมที่เป็นที่นิยมให้บริการใน Medical Tourism ได้และทำให้ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรและปัญหาสมองไหลรุนแรงขึ้นผลการศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าเพื่อตักตวงประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันของMedical Tourism ไทยภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป ภาครัฐควรใช้ประโยชน์จากกำลังคนของประเทศเพื่อนบ้านผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหากำลังคนทางการแพทย์โดยเฉพาะกำลังคนทางด้านพยาบาลที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการสุขภาพภายในประเทศ พร้อม ๆ กับการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและรับคำร้องต่าง ๆ ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทในบริการ Medical Tourism การดำเนินดังกล่าวต้องควบคู่ไปกับการจัดเก็บข้อมูลทางด้าน Medical Tourism อย่างเป็นระบบ การกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วยภายในประเทศ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบประกันสุขภาพภายในประเทศ
Today | This Month | Total | |||
252 | 1221 | 150439 |